BuildingVille

หลังคาเมทัลชีท มีกี่แบบ ? เรื่องราวน่ารู้เพื่อการตัดสินใจใช้งานเมทัลชีท


โพสต์เมื่อ 25 Oct 2023 เข้าชม 225 ครั้ง

        นอกจากการใช้งานกระเบื้องหลังคาแล้วยังมีการใช้วัสดุอื่น ๆ เพื่อทดแทนเป็นหลังคาเช่นกัน นั่นคือวัสดุเมทัลชีทที่มีผู้ใช้งานกันอย่างแพร่หลาย เพราะวัสดุชนิดนี้มีคุณสมบัติมากมายให้เพื่อน ๆ ได้เลือกให้ตรงตามการใช้งาน ในปัจจุบันวัสดุอย่างเมทัลชีทต่างก็มีหลากหลายแบรนด์ผลิตออกมาให้เหมาะสมกับบ้าน สิ่งก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท รวมไปถึงโกดังจัดเก็บสินค้า จะว่าไปแล้วหลังคาเมทัลชีท มีกี่แบบให้เลือกใช้งานกันนะ ? วันนี้เรามีคำตอบมาฝาเพื่อน ๆ ติดตามได้ที่ด้านล่างนี้เลยครับ

 

หลังคาเมทัลชีท มีกี่แบบให้เลือกใช้งาน ? 

       เมทัลชีท (Metal Sheet) เป็นวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่โดยการนำเหล็กมารีดให้เกิดเป็นรูปร่างทั้งแบบแผ่นเรียบและแบบแผ่นลอนจากนั้นจะถูกนำไปเคลือบด้วยสารโลหะ 2 ประเภท คือ อลูมิเนียม 55% และสังกะสี 45% โดยรวมแล้วสาร 2 ประเภทนี้เมื่อถูกนำมารวมกันจะเรียกว่าอลูซิงค์ (Aluzinc) ซึ่งเป็นตัวย่อของสารทั้ง 2 นั่นเองครับ ปัจจุบันมีการใช้งานหลังคาเมทัลชีทมากขึ้น นอกจากนำไปทำเป็นหลังคาแล้วยังสามารถนำไปออกแบบเป็นผนัง กันสาด หรือใช้สำหรับกั้นเป็นรั้วก็ได้เช่นกัน วันนี้ทาง Building Ville จะพาเพื่อน ๆ ทุกคนไปพูดถึงข้อมูลเกี่ยวกับหลังคาเมทัลชีท มีกี่แบบ ? 

แบ่งตามลักษณะ 

  • แบบธรรมดาหรือแบบแผ่นเปล่า 

    • แผ่นเหล็กรีดบางขึ้นรูปลอนและแบบเรียบ ถูกนำไปเคลือบด้วยสารอลูซิงค์เพียงอย่างเดียว หรือในบางครั้งจะมีการนำไปเคลือบสีเพื่อให้เมทัลชีทมีความสวยงามมากขึ้น แต่ไม่มีการติดวัสดุอื่น ๆ เข้าไปเพื่อทำงานร่วมกัน ส่วนมากจะนำไปทำเป็นหลังคาและแผ่นผนัง สามารถนำไปใช้งานได้กับทุก ๆ สิ่งปลูกสร้าง ข้อดี ราคาแผ่นเมทัลชีทไม่แพง หาซื้อได้ง่าย ข้อเสีย ความสามารถในการทนความร้อนต่ำและมักเกิดเป็นเสียงดังในขณะที่ฝนตก รูปแบบที่นิยมใช้ เมทัลชีทแบบ 3 ลอน, เเมทัลชีมลอน 4 สันลอน, เมทัลชีทลอนหลังเต่า, และเมทัลชีทลอนสเปน 

  • แบบติดฉนวนกันความร้อน 

    • หลังคาเมทัลชีทที่มีการติดตั้งฉนวนกันความร้อน PE มาในตัวเพื่อให้ช่วยในเรื่องของการกันความร้อนได้มากกว่าแบบแผ่นเปล่า ข้อดี แบบติดฉนวนกันความร้อนสามารถทนความร้อนได้มากกว่าแบบธรรมดา ช่วยลดระดับเสียงได้เล็กน้อย ข้อเสีย การใช้งานหลังคาเมทัลชีท กันความร้อน จะสามารถใช้งานได้เพียง 5 ปีถึง 6 ปีเท่านั้น  

  • แบบฉีดโฟม PU 

    • การติดโฟม pu ที่แผ่นเมทัลชีท จะช่วยให้สามารถป้องกันการลุกลามของไฟได้เป็นอย่างดี ความนิยมในการติดตั้งจะมีความหนาของหลังคาเมทัลชีท pu โฟมสำเร็จรูปอยู่ที่ 3 นิ้ว ข้อดี แผ่นเมทัลชีทที่มี pu โฟมจะช่วยป้องกันความร้อนและลดการเกิดเสียงได้ดีกว่ารูปแบบอื่น ข้อเสีย ราคาสูง 

  • แบบมีฉนวนความร้อนอยู่ระหว่างสองแผ่น

    • ลักษณะของเมทัลชีทรูปแบบนี้จะเป็นการนำแผ่นเมทัลชีท 2 แผ่นมาประกบเข้าหากันโดยที่มีโฟม pu อยู่ระหว่างกึ่งกลาง เป็นรูปแบบที่ดีที่สุดของเมทัลชีทเลยก็ว่าได้ ข้อดี สามารถป้องกันเสียงและป้องกันความร้อนได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับแบบอื่น ๆ ข้อเสีย ราคาสูงที่สุดเมื่อเทียบกับแบบอื่น ๆ เช่นเดียวกัน 

แบ่งตามการติดตั้ง 

       สำหรับการติดตั้งเมทัลชีทสามารถทำได้ 2 รูปแบบคือแบบใช้สกรูในการติดตั้งและแบบไม่ใช้สกรู การติดตั้งของทั้งสองแบบนั้นจะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของรูปลอน  

  • เมทัลชีทที่ใช้สกรูในการติดตั้ง 

    • แผ่นเมทัลชีทหลาย ๆ รูปแบบลอนมักจำเป็นต้องใช้งานการติดตั้งด้วยสกรู อย่างเช่น ลอนมาตรฐาน, ลอนเมริเดียน, ลอนซากุระ, ลอนสเปน, ลอนตะเข็บคู่, และลอนลังเต่า การยิงสกรูจะทำการยิงที่ด้านบนของลอนทุกลอนบนแผ่นเมทัลชีท สามารถใช้งานได้กับทักความหนาเมทัลชีทและเป็นการติดตั้งที่สะดวกสบายมากที่สุด 

  • เมทัลชีทที่ไม่ต้องใช้สกรู 

    • นอกจากการติดตั้งด้วยสกรูแล้วยังคงมีการติดตั้งแบบคลิปล็อคด้วยเช่นกัน การติดตั้งรูปแบบนี้มีความสวยงามมากกว่าแบบแรกเพราะเป็นการติดตั้งแบบไม่ใช้สกรู การติดตั้งแบบนี้จะช่วยป้องกันการรั่วซึมของน้ำได้เกือบจะ 100% ถ้าไม่เกิดการรั่วที่บริเวณอื่น ๆ ถึงแม้จะไม่ใช้สกรูในการติดตั้งแต่ก็ยังคงมีการใช้สกรูติดคอนเน็กเตอร์ไว้กับโครงสร้าง 

 

ข้อควรรู้ก่อนการใช้งานเมทัลชีท 

ความหนาของเมทัลชีท 

        แผ่นเมทัลชีทเป็นวัสดุก่อสร้างชนิดหนึ่งที่มีความหนาให้เลือกหลายรูปแบบ ซึ่งในแต่ละความหนาจะเหมาะสมกับประเภทการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้ 

  • ความหนาเมทัลชีท 0.23 – 0.28 มิลลิเมตร : นิยมนำไปใช้งานกับหลังคาขนาดเล็ก  

  • ความหนาเมทัลชีท 0.30 – 0.35 มิลลิเมตร : เหมาะกับการนำไปใช้งานเป็นหลังคา รวมถึงผนังขนาดเล็ก ระยะของแปไม่ควรเกินกว่า 1.2 เมตร 

  • ความหนาเมทัลชีท 0.35 – 0.40 มิลลิเมตร : เหมาะกับการนำไปใช้งานเป็นหลังคาหรือผนังขนาดกลางทั่ว ๆ ไป 

  • ความหนาเมทัลชีท 0.40 – 0.47 มิลลิเมตร : นิยมนำไปทำเป็นหลังคาขนาดกลางค่อนไปทางขนาดใหญ่ ที่มีระยะแปไม่เกิน 1.5 เมตร 

  • ความหนามากกว่า 0.47 มิลลิเมตร : เหมาะกับการใช้งานเป็นหลังคาขนาดใหญ่ ที่ระยะแปได้มากถึง 2.5 เมตร จึงนิยมนำไปใช้งานกับโรงงานอุตสาหกรรม 

การเลือกสีหลังคาให้เหมาะสมกับบ้าน 

       นอกจากการเลือกขนาดความหนาของแผ่นเมทัลชีทแล้วในเรื่องของสีหลังคาก็ควรเลือกเช่นกัน อย่างการนำไปใช้งานกับบ้านพักอาศัย ควรเลือกให้เหมาะกับสไตล์ของบ้านเพื่อความสวยงาม อย่างเช่นบ้านสไตล์โมเดิร์น ควรเลือกหลังคาสีออกเทา บ้านสไตล์มินิมอล ควรเลือกหลังคาสีสว่างไปจนถึงสีขาว บ้านสไตล์ทรอปิคอล ควรเลือกใช้เมทัลชีทสีออกแนวธรรมชาติจะเหมาะสมมากที่สุด 

เมทัลชีทเคลือบสีดีกว่าเมทัลชีทไม่เคลือบสี 

       เมทัลชีทที่พบเห็นได้บ่อยมักเป็นเมทัลชีทแบบไม่เคลือบสี หลาย ๆ ครั้งมีการพูดต่อ ๆ กันมาว่าแบบเคลือบสีดีกว่าซึ่งแน่นอนอยู่แล้ว เพราะเมทัลชีทแบบเคลือบสีจะถูกนำไปเคลือบสารต่าง ๆ ก่อนหลายครั้งแล้วจึงนำไปเคลือบสีซ้ำอีกหลายครั้งเช่นเดียวกัน จึงทำให้แผ่นเมทัลชีทแบบเคลือบสีมีความหนาที่มากกว่าแบบไม่เคลือบสี ช่วยป้องกันการถูกความชื้นที่ผิวเหล็กได้ดีกว่า ทนต่อความชื้น ป้องกันการกัดกร่อน และป้องกันการเกิดเป็นสนิมที่ผิวเหล็กได้ดียิ่งกว่า 

เลือกเมทัลชีทที่มี มอก. 

       มอก. ย่อมาจาก มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แน่นอนว่าหากมีเครื่องหมาย มอก. ที่ผลิตภัณฑ์ใด ๆ นั่นแปลว่าผลิตภัณฑ์ นั้น ๆ ผ่านมาตรฐานในการผลิตและมีคุณภาพมากพอที่จะสามารถนำไปใช้งานเป็นวัสดุก่อสร้างได้ในระยะยาว ก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อวัสดุใดควรพิจารณาเรื่อง มอก. เพื่อการตัดสินใจที่ดีมากขึ้นของเพื่อน ๆ นะครับ 

 

จากข้อสงสัยที่ว่า “หลังคาเมทัลชีท มีกี่แบบ” หากจะให้ตอบตามตรงคือมีหลากหลายแบบมาก โดยที่มีเกณฑ์ในการแบ่งอย่างหลากหลายออกไปทั้งแบ่งตามการติดตั้ง แบ่งตามรูปแบบลอน แบ่งตามวัสดุที่มีการนำมาติดตั้งใช้งานร่วมกัน ดังนั้นการเลือกสรรแผ่นเมทัลชีทควรพิจารณาว่าตอบโจทย์การใช้งานแล้วหรือไม่ หากเพื่อน ๆ ท่านใดสนใจและต้องการเลือกใช้งานวัสดุก่อสร้างประเภท เมทัลชีทสามารถติดต่อได้ที่ Building Ville  

 

อ้างอิงจาก : 1 2